Thursday, August 22, 2013

วิปัสสนาคืออะไร

 ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตหัวข้อที่ผมนำมาโพสต์ในช่วงหลังๆนี้จะเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำสมาธิ สืบเนื่องจากตอนนี้ตัวผมเองสนใจเรื่องการทำสมาธิอยู่ และวันนี้ก็เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับสมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐาน โดยเรามักจะได้ยิน 2 คำนี้กันบ่อยจนบางครั้งเราก็นำมาใช้เรียกกันผิดๆถูกๆ วันนี้เลยขอนำเสนอเรื่องวิปัสสนาก่อนว่าคืออะไร(ตรงสีดำเข้มคือข้อความที่ผมอยากเน้นนะครับ)




วิปัสสนาคืออะไร

    วิปัสสนาก็คือ การเอาสติเข้าไปตามดูตามสังเกต เข้าไปจดจ่อ เข้าไปใส่ใจ ต่อสภาวะลักษณะที่ปรากฎในขณะนั้น และต่อความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปต่าง ๆ ทั้งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมไป ดับไปของรูปของนาม หรือของร่างกายของจิตใจ หรือของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สะสมข้อมูลที่สังเกตได้นั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ และนำข้อมูลที่ได้จากการตามดูตามสังเกตนั้น มาพินิจพิเคราะห์ พิจารณาโดยแยบคาย ให้เห็นว่ารูปนามนั้นเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นสุขหรือทุกข์ หรือความสุขที่ได้มานั้นคุ้มกับความทุกข์ที่ต้องเผชิญหรือไม่ อยู่ในอำนาจหรือไม่ เป็นไปตามความปรารถนาหรือไม่ ควรค่าแก่การยึดมั่นหรือไม่ ควรหรือไม่ที่จะถือว่าเป็นเรา เป็นของของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา ( ถ้าจะถือว่าสิ่งใดเป็นเราแล้วสิ่งนั้นก็ควรจะอยู่ในอำนาจ และเป็นไปตามความปรารถนาของเราอย่างแท้จริง ) ทั้งนี้ก็เพื่อทำการศึกษา ให้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของรูปนามทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปนามภายใน ภายนอก ในอดีต ปัจจุบัน อนาคต คือให้รู้แจ้งเห็นจริงอย่างชัดเจนด้วยปัญญาของตนเองอย่างทะลุปรุโปร่ง โดยไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยใด ๆ และไม่ต้องอาศัยความเชื่อผู้อื่นอีกต่อไป ( เพราะรู้ด้วยปัญญาของตนเองแล้ว ) จนกระทั่งเห็นแจ้งว่าภายในเป็นอย่างไรภายนอกก็เป็นอย่างนั้น ปัจจุบันเป็นอย่างไรอดีตและอนาคตก็เป็นอย่างนั้น ไม่ว่ารูปนามใด ๆ ในเวลาไหน ๆ ก็เป็นอย่างนั้นทั้งนี้ควรทำประกอบกันทั้งการตามดูตามสังเกต และการพิจารณาโดยแยบคาย ไม่ใช่ทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการตามดูตามสังเกตแล้วไม่นำข้อมูลที่ได้นั้น มาพิจารณาโดยแยบคาย ก็จะไม่ได้ประโยชน์จากข้อมูลนั้นอย่างเต็มที่ ส่วนการตั้งหน้าตั้งตาพิจารณาโดยแยบคาย โดยไม่มีข้อมูลจากการตามดูตามสังเกตอย่างมากพอ การพิจารณานั้นก็อาจผิดพลาดได้ ดังนั้นจึงควรตามดูตามสังเกตไปเรื่อย ๆ แล้วนำข้อมูลนั้นมาพิจารณาโดยแยบคายเป็นระยะ ๆ สลับกันไป

     เมื่อพิจารณาอะไรไม่ออกแล้ว ก็แสดงว่าข้อมูลที่สังเกตได้มานั้นยังไม่มากพอที่จะพิจารณาต่อไป ก็พักการพิจารณาเอาไว้ก่อนอย่าท้อใจเพราะเป็นธรรมดาของการปฏิบัติ ใช้สติตามดูตามสังเกตรูปนามกันต่อไป เมื่อข้อมูลมากขึ้นก็จะพิจารณาต่อไปได้เอง หรือบางครั้งเมื่อข้อมูลมากพอแล้ว แม้จะไม่ได้ตั้งใจพิจารณาจิตก็จะแล่นไปได้เอง คือถึงไม่ได้ตั้งใจพิจารณาก็เหมือนพิจารณา เมื่อเห็นธรรมชาติที่แท้จริงชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ในที่สุดก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาจากส่วนลึกที่สุดของจิตใจของตนเอง เป็นความรู้สึกเบื่อหน่ายในรูปนามทั้งปวงอย่างแรงกล้า เมื่อเบื่อหน่ายก็จะเกิดความรู้สึกคลายความยึดมั่นถือมั่นในรูปนามทั้งปวงลงไป เมื่อคลายความยึดมั่นถือมั่นมากเท่าไร กิเลสทั้งหลายที่อยู่ในระดับความหยาบ / ความประณีตเดียวกันกับความยึดมั่นถือมั่นนั้น ก็จะถูกทำลายลงไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นการทำลายที่ต้นตอของกิเลสนั้นโดยตรง จึงไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นมาได้อีกเลย และความรู้สึกนี้จะแผ่ซ่านไปทั่วทุกอณูของร่างกาย ( คล้ายกับเวลาที่ประสบกับความตกใจ ความกลัว หรือความเสียใจอย่างสุดขีด จนกระทั่งความรู้สึกเหล่านั้นแผ่ซ่านไปทั่วทุกรูขุมขน ฉัน นั้น ) สำนวนในพระไตรปิฎกจะใช้คำว่า เมื่อเบื่อหน่ายก็จะคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดก็จะหลุดพ้น .

       ที่กล่าวมานี้เป็นการเกิดขึ้นของปัญญาขั้นมรรคผล ซึ่งเป็นปัญญาขั้นสูงสุด จนมีอิทธิพลไปถึงจิตใต้สำนึกที่อยู่ลึกที่สุด แต่ถ้าเห็นธรรมชาติของรูปนามยังไม่ชัดเจนพอ หรือยังไม่มากพอ ก็จะเกิดความรู้สึกคลายความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาได้เช่นเดียวกัน แต่ความรู้สึกนั้นจะอยู่แค่ระดับจิตสำนึก หรือลงไปถึงจิตใต้สำนึกบางส่วน จะทำให้เกิดการละกิเลสได้ชั่วคราว ที่เรียกว่าตทังคประหาร ผู้ปฏิบัติบางคนเมื่อปฏิบัติมาถึงขั้นนี้แล้ว ก็อาจจะเข้าใจผิด คิดว่าตนเองบรรลุมรรคผลแล้วก็ได้ ดังนั้นผู้ปฏิบัติทั้งหลายพึงระวัง และพิจารณาให้ดี เพราะตทังคประหารนั้นนานวันไปก็จะเสื่อมลงไปได้ เมื่อมีเหตุมีปัจจัยมากพอ กิเลสก็จะฟูขึ้นมาได้อีก การทดสอบ / ตรวจสอบกิเลสที่เหลืออยู่ และคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวของมรรคผลแต่ละขั้น ( เช่น ความบริบูรณ์ของศีล ความบริบูรณ์ของสมาธิ ความบริบูรณ์ของสติ ) จะเป็นเครื่องตัดสินที่ดีที่สุด สำหรับกิเลสที่ละได้แล้วนั้น จะต้องละได้เพราะความบริสุทธิ์ของจิตจริง ๆ คือกิเลสนั้นจะต้องไม่เกิดขึ้นอีกอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่ละได้ด้วยการข่มไว้ด้วยสติ ข่มไว้ด้วยสมาธิ หรือการคอยพิจารณาเพื่อข่มไว้ การทดสอบก็ควรทำในสิ่งแวดล้อมที่บีบคั้นและยาวนาน เพื่อกระตุ้นให้กิเลสข้อนั้นเกิดขึ้น ( ควรใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือนในการทดสอบ แต่ถ้าให้ดีก็ควรใช้เวลาให้มากกว่านี้ )

ที่มา
http://www.dhammathai.org

No comments:

Post a Comment