Wednesday, July 31, 2013

กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม

ช่วงปีหลังๆนี้ประเทศไทยเปลี่ยนไปมากโดยส่วนใหญ่จะไปในทางไม่ดี เช่นข่าวฆ่ากัน ชิงทรัพย์ ทุจริต ฯลฯ จนมีวันหนึ่งพ่อได้พูดกับผมว่าสงสัยจะเป็นยุคของ "กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม"  ผมได้ยินครั้งแรกตอนนั้นก็งงเต๊กเลยเพราะไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร ประโยคนี้มาจากเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาครับ ลองอ่านแล้วแปลดูนะครับ เดี๋ยวจะเฉลยว่าประโยคที่พูดถึงหมายถึงอะไร

หากขี้เกียจอ่านก็รับฟังเอาได้ที่นี่ แต่ในวีดีโอจะพูดในส่วนเหตุอาเพศเท่านั้น

สำหรับคนที่อยากเรื่องเหตุอาเพศ 16 ข้อว่ามีที่มาอย่างไรสามารถอ่านได้ที่นี่

อ่านคำทำนายการสิ้นสุดของศาสนาพุทธเมื่อ พ.ศ.5000


เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา


จะกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา
เป็นกรุงรัตนราชพระศาสนา       มหาดิเรกอันเลิศล้น
เป็นที่ปรากฏรจนา                   สรรเสริญอยุธยาทุกแห่งหน
ทุกบุรีสีมามณฑล                   จบสกลลูกค้าวานิช
ทุกประเทศสิบสองภาษา          ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาเป็นอัคคนิษฐ์
ประชาราษฎร์ปราศจากภัยพิศม์  ทั้งความพิกลจริตแลความทุกข์
ฝ่ายองค์พระบรมราชา             ครองขันธสีมาเป็นสุข
ด้วยพระกฤษฎีกาทำนุก           จึงอยู่เย็นเป็นสุขสวัสดี
เป็นที่อาศัยแก่มนุษย์ในใต้หล้า  เป็นที่อาศัยแก่เทวาทุกราศี
ทุกนิกรนรชนมนตรี                คหบดีพราหมณพฤฒา
ประดุจดั่งศาลาอาศัย              ดั่งหนึ่งร่มพระไทรอันสาขา
ประดุจหนึ่งแม่น้ำพระคงคา       เป็นที่สิเนหาเมื่อกันดาร
ด้วยพระเดชเดชาอานุภาพ       อาจปราบไพรีทุกทิศาน
ทุกประเทศเขตขันธบันดาล      แต่งเครื่องบรรณาการมานอบนบ
กรุงศรีอยุธยานั้นสมบูรณ์         เพิ่มพูนด้วยพระเกียรติยศขจรจบ
อุดมบรมสุขทั้งแผ่นภพ           จนคำรบศักราชได้สองพัน
คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย         จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น
ด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศพิธราชธรรม์   จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ
คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพท     อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาล      เกิดนิมิตพิสดารทุกบ้านเมือง
พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก  อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง
ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง             ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ไพร
พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี         พระกาลกุลีจะเข้ามาเป็นไส้
พระธรณีจะตีอกไห้                 อกพระกาลจะไหม้อยู่เกรียมกรม
ในลักษณะทำนายไว้บ่อห่อนผิด  เมื่อวินิศพิศดูก็เห็นสม
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม      มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ
ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสารพัด      เกิดวิบัตินานาทั่วสากล
เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา        จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สัปบุรุษจะแพ้แก่ทรชน              มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว              คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูนัก                  จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ             นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย            น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม
ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า                เพราะจัณฑาลมันเข้ามาเสพสม
ผู้มีศิลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์        เพราะสมัครสมาคมด้วยมารยา
พระมหากษัตริย์จะเสื่อมสิงหนาท  ประเทศราชจะเสื่อมซึ่งยศถา
อาสัจจะเลื่องลือชา                 พระธรรมาจะตกลึกลับ
ผู้กล้าจะเสื่อมใจหาญ              จะสาบสูญวิชาการทั้งปวงสรรพ
ผู้มีสินจะถอยจากทรัพย์           สัปบุรุษจะอับซึ่งน้ำใจ
ทั้งอยุศฆ์จะถอยเคลื่อนจากเดือนปี  ประเวณีจะแปรปรวนตามวิสัย
ทั้งพืชแผ่นดินจะผ่อนไป           ผลหมากรากไม้จะถอยรส
ทั้งแพทย์พรรณว่านยาก็อาเพด   เคยเป็นคุณวิเศษก็เสื่อมหมด
จวงจันทร์พรรณไม้อันหอมรส     จะถอยถดไปตามประเพณี
ทั้งข้าวก็จะยากหมากจะแพง       สารพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่
จะบังเกิดทรพิษมิคสัญญี           ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน
กรุงประเทศราชธานี                 จะเกิดการกุลีทุกแห่งหน
จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล         จะสาละวนทั่วโลกหญิงชาย
จะร้อนอกสมณาประชาราษฎร์    จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย
จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย            ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ
ทางน้ำก็จะแห้งเป็นทางบก         เวียงวังจะรกเป็นป่าเสือ
แต่สิงห์สาระสัตว์เนื้อเบื้อ           นั้นจะหลงเหลือในแผ่นดิน
ทั้งผู้คนสารพัดสัตว์ทั้งหลาย       จะสาบสูญล้มตายเสียหมดสิ้น
ด้วยพระกาลจะมาผลาญแผ่นดิน  จะสูญสิ้นการณรงค์สงคราม
กรุงศรีอยุธยาจะสูญแล้ว           จะลับรัศมีแก้วเจ้าทั้งสาม
ไปจบคำรบปีเดือนคืนยาม         จะสิ้นนามศักราชห้าพัน
กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข             แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์
จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์        นับวันจะเสื่อมสูญ เอย


****จะสิ้นนามศักราชห้าพัน**** ตรงนี้เป็นที่มาที่หลายคนเคยได้ยินว่าพุทธศาสนาจะสิ้นสุดในปีพุทธศักราช 5,000

ที่มา

http://www.oknation.net/
http://www.thaipoet.net

เฉลยนะครับ ประโยคที่ว่า "กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม" หมายถึง ยุคที่มีความวิปริตผิดปรกติ กระเบื้องซึ่งมีน้ำหนักมาก ปรกติจะจมน้ำ กลับลอยน้ำได้ เปรียบเหมือนคนชั่วที่เฟื่องฟู คือได้ดี และเป็นแบบอย่างให้คนชั่วอื่นๆ ทำชั่วตาม ส่วนลูกน้ำเต้าแห้งซึ่งปรกติลอยน้ำได้ กลับจมน้ำลงไป เปรียบได้กับคนดีที่กลับตกต่ำ นอกจากไม่เป็นที่สนใจของสังคมแล้ว ยังถูกคนชั่วรังแกเอา เช่น ในข่าวโทรทัศน์มีแต่ภาพและข่าวของคนชั่วทำผิดกฎหมายอยู่เต็มจอ แต่ก็ไม่สามารถเอาตัวมาลงโทษได้ คนดีได้แต่ท้อแท้


ต่อไปเป็นการวิจารณ์เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ


ต่อไปนี้เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิจารณ์เพลงยาวเรื่องนี้ไว้
“พิจารณาเนื้อความตามที่กล่าวในเพลงยาวบทนี้ มีคำพยากรณ์มาแต่ก่อน ว่ากรุงศรีอยุธยาจะสมบูรณ์พูลสุขเป็นอย่างเลิศล้นจนศักราชได้ ๒,๐๐๐ ปี พ้นนั้นไปจะ “เกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์ ๑๖ ประการ” “เหตุด้วยพระมหากษัตริย์ไม่ทรงทศพิธราชธรรม” บ้านเมืองก็จะมีเภทภัยต่างๆ ที่สุดถึงฆ่าฟันกันตาย จนกรุงศรีอยุธยาสูญไปตลอดอายุพระพุทธศาสนา ๕,๐๐๐ ปี ว่ามีคำพยากรณ์อยู่แล้วดังกล่าวมานี้ มาในสมัยหนึ่งเมื่อกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีอยู่นั้น ผู้แต่งเพลงยาวบทนี้สังเกตเห็นเกิดวิปริตต่างๆ ตาม “ในลักษณทำนายไว้บ่อห่อนผิด เมื่อวินิจพิศดูก็เห็นสม” เกรงว่าจะเข้ายุคเข็ญตามคำพยากรณ์ จึงแต่งเพลงยาวบทนี้ด้วยความอาลัยกรุงศรีอยุธยาลงท้ายว่า
“กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์
จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์ นับวันแต่จะเสื่อมสูญเอย”

ตามความในเพลงยาวพึงเห็นได้ว่าผู้แต่งเพลงยาวบทนี้เป็นแต่อ้างตามคำพยากรณ์ที่มีอยู่แล้ว หาได้เป็นผู้พยากรณ์ไม่ จึงเกิดปัญหาเป็นข้อต้น ว่าใครเป็นผู้พยากรณ์ วิสัชนาข้อนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในหนังสือเก่าเรียกว่า “มหาสุบินชาดก” (ซึ่งหอพระสมุดพิมพ์ไว้ในหนังสือนิบาตชาดก เล่ม ๒ หน้า ๑๗๒) เนื้อความในชาดกนั้น ว่าคืนหนึ่งพระเจ้าปะเสนทิ ซึ่งครองประเทศโกศลอยู่ เมืองสาวัตถี เป็นราชธานีทรงพระสุบินนิมิตอย่างแปลกประหลาด ๑๖ ข้อ (จำนวนตรงกันกับในเพลงยาว) เกิดหวาดหวั่นพระราชหฤทัยตรัสให้พวกพราหมณ์พยากรณ์ พวกพราหมณ์ว่าพระสุบินนั้นร้ายนัก เป็นนิมิตที่จะเกิดภัยอันตรายใหญ่หลวงทูลแนะนำให้ทำพิธีบูชายัญป้องกันภยันตราย แต่นางมัลลิกามเหสีเห็นว่าพิธีบูชายัญนั้น ต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิตจะกลัวเป็นบาปกรรม ทูลขอให้พระเจ้าปะเสนทิไปทูลถามพระพุทธเจ้าให้ทรงพยากรณ์เสียก่อน เมื่อพระเจ้าปะเสนทิไปทูลถามพระพุทธองค์ตรัสตอบว่าพระสุบิน ๑๖ ข้อนั้นสังหรณ์เหตุร้ายจริงแต่เหตุร้ายเหล่านั้นจะยังไม่เกิดในรัชกาลของพระเจ้าปะเสนทิและในพุทธกาล จะเกิดต่อเบื้องหน้าเมื่อพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในราชธรรมและมนุษย์ทั้งหลายทิ้งกุศลสุจริตจึงจะถึงยุคเข็ญ นิมิตร้ายในพระสุบินหามีภัยอันตรายแก่พระองค์อย่างไรไม่ พระเจ้าปะเสนทิได้ทรงฟังพระพุทธฎีกาก็สิ้นพระวิตก ทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์นิมิต ๑๖ ข้อนั้นต่อไป พระพุทธองค์จึงทรงพยากรณ์ทีละข้อ แต่จะคัดพุทธพยากรณ์มาแสดงโดยพิสดารจะยืดยาวนัก จะกล่าวแต่ ๒ ข้อซึ่งใกล้อย่างยิ่งกับที่กล่าวในเพลงยาวว่า
“กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยจะถอยจม”
ในพระสุบินข้อ ๑๒ ว่าพระเจ้าปะเสนทิทอดพระเนตรเห็น “น้ำเต้าเปล่า” (คือที่รวงเอาเยื่อข้างในออกเหลือแต่เปลือกสำหรับใช้ตักน้ำ) อันลอยน้ำเป็นธรรมดากลับจมลงไปอยู่กับพื้นที่ข้างใต้น้ำ ข้อนี้พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า เมื่อถึงยุคเข็ญนั้นพระมหากษัตริย์จะชุบเลี้ยงคนแต่เสเพลเปรียบเหมือนลูกน้ำเต้าเปล่าอันได้แต่ลอยตามสายน้ำ ตั้งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการ เปรียบดังน้ำเต้าเปล่าจมลงไปเป็นภาคพื้นใต้น้ำ
ในพระสุบินข้อ ๑๓ ว่า พระเจ้าปะเสนทิได้ทอดพระเนตรเห็นหินก้อนใหญ่สักเท่าเรือน (ในเพลงยาวว่ากระเบื้อง) ลอยขึ้นมาอยู่บนหลังน้ำ พุทธพยากรณ์ข้อนี้ก็อย่างเดียวกับข้อก่อนแต่กลับกันว่าผู้ทรงคุณเป็นหลักฐานมั่นคง เปรียบเหมือนหินดานที่เป็นพื้นของลำน้ำ เมื่อถึงยุคเข็ญจะสิ้นวาสนาต้องเที่ยวซัดเซเร่ร่อน เปรียบเหมือนกับหินกลับลอยตามกระแสน้ำ
นอกจาก ๒ ข้อนี้เหตุร้ายต่าง ๆ ที่ในพุทธพยากรณ์ว่าจะเกิดในยุคเข็ญก็เป็นเค้าเดียวกับที่กล่าวในเพลงยาว เห็นได้ชัดว่าผู้แต่งคำพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาเอาความในมหาสุบินชาดกมาแต่ง แต่มีผิดกันเป็นข้อสำคัญอยู่ ๒ แห่ง แห่ง ๑ ในมหาสุบินชาดก พระพุทธเจ้ามิได้ทรงพยากรณ์ว่ายุคเข็ญนั้นจะเกิดในประเทศใด เป็นแต่ว่าเกิดเพราะพระราชาไม่อยู่ในราชธรรม แต่ในคำพยากรณ์เจาะจงว่าจะเกิด ณ กรุงศรีอยุธยาอีกแห่ง ๑ ในพระพุทธพยากรณ์มิได้กล่าวว่ายุคเข็ญจะเกิดเมื่อใด เป็นแต่ว่ายังอีกช้านานในภายหน้า แต่ในคำพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาอ้างว่าจะเกิดยุคเข็ญ เมื่อศักราชได้ ๒,๐๐๐ ปี จึงเป็นปัญหาเกิดขึ้นอีกข้อ ๑ ว่า “ศักราชอันใด” ถ้าหมายว่าพุทธศักราช กรุงศรีอยุธยาสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ ครบ ๒,๐๐๐ ปี ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ กรุงศรีอยุธยาก็จะสมบูรณ์พูลสุขอยู่เพียง ๑๐๗ ปี แล้วก็เข้ายุคเข็ญมาก่อนแต่งเพลงยาวบทนี้ตั้ง ๑๐๐ ปีแล้ว ที่ผู้แต่งเพลงยาวเพิ่งหวั่นหวาดว่าจะถึงยุคเข็ญก็ส่อให้เห็นว่ามิใช่พุทธศักราช หรือจะหมายว่ามหาศักราช ซึ่งตั้งภายหลังพุทธศักราช ๖๒๑ ปี ถ้าเช่นนั้นเมื่อคำนวณดูใน พ.ศ. ๒๔๗๙ (ปีที่เขียนคำวิจารณ์) นี้มหาศักราชได้ ๑,๘๕๘ ปี ยังอีก ๑๔๒ ปี จึงจะครบ ๒,๐๐๐ ปี เข้าเขตยุคเข็ญที่พยากรณ์ ถ้าหมายความว่าจุลศักราชยังยิ่งช้าออกไปอีกมาก เพราะจุลศักราชตั้งภายหลังพุทธศักราชถึง ๑,๑๘๑ ปีต่ออีก ๗๐๒ ปี (พ.ศ. ๓๑๘๑) จุลศักราชจึงจะครบ ๒,๐๐๐ ศักราช ๒,๐๐๐ ที่บอกไว้ดูไม่เข้ากับเรื่องที่กล่าวในเพลงยาวทีเดียว ชวนให้สงสัยต่อไปถึงข้อที่อ้างว่ามีคำพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาอยู่แต่ก่อน ที่จริงน่าจะเป็นด้วยคนชอบเอาพุทธพยากรณ์ในมหาสุบินชาดกมาเปรียบในเวลาเมื่อเห็นอะไรวิปริตผิดนิยม เกิดเป็นภาษิตก่อนแล้วจึงเลยเลือนไปเข้าใจกันว่าเป็นคำพยากรณ์ สำหรับพระนครศรีอยุธยา ผู้แต่งเพลงยาวนี้ จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ตาม หรือมิใช่พระเจ้าแผ่นดินก็ตามน่าจะปรารภความวิปริตอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยนั้น จึ่งแต่งเพลงยาวนี้ด้วยกลุ้มใจ บางทีจะเอาศักราช ๒,๐๐๐ อันตั้งใจว่าจุลศักราชเขียนลงเพื่อจะมิให้คนทั้งหลายตกใจว่าถึงยุคเข็ญแล้วเมื่อเวลาแต่งเพลงยาวนั้น เห็นจะมิใคร่มีใครถือว่าสลักสำคัญมาจนเมื่อเสียพระนครศรีอยุธยา จึงเกิดเห็นสมดังพยากรณ์ เพลงยาวบทนี้ก็เลยศักดิ์สิทธิ์ขึ้น พวกไทยที่ตกไปเมืองพม่าก็เห็นเช่นนั้นจึงเอาไปอ้างอวดพม่าว่าพระเจ้าเสือทรงสามารถเห็นการในอนาคตห่างไกล ฝ่ายพวกไทยที่อยู่ในประเทศสยามเมื่อเห็นพระนครศรีอยุธยาเป็นเมืองร้าง ก็เห็นว่าสมคำพยากรณ์เช่นเดียวกันโดยมาก ที่เรียกเพลงยาวบทนี้ว่า “เพลงยาวพุทธทำนาย” ก็มีจำกันได้แพร่หลายแต่คนละเล็กละน้อย ดูเหมือนจำได้โดยมากแต่ตรงว่า “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยจะถอยจม” ครั้นเมื่อถามข้าราชการครั้งกรุงศรีอยุธยาที่ยังมีตัวอยู่ (เข้าใจว่าเมื่อแรกสร้างพระนครอมรรัตนโกสินทร์) ในรัชกาลที่ ๑ ถึงแผนที่พระนครศรีอยุธยา มีผู้จำเพลงยาวพยากรณ์นี้ได้ตลอดบท (อย่างกะพร่องกะแพร่ง) จึงให้จดลงไว้ข้างต้นสมุดเรื่องกรุงศรีอยุธยาสันนิษฐานว่า เรื่องตำนานของเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาจะเป็นดังกล่าวมา”
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา เป็นบทกลอนทำนายตามแบบอย่างมหาสุบินชาดกและนิทาน"พระยาปัถเวน(ปเสนทิโกศล)ทำนายฝัน อันเก่าแก่ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสุบินนิมิตร 16 ประการของพระเจ้าปเสนทิโกศล และได้ทูลถามคำพยากรณ์จากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา นี้ นำมาจากหนังสือ"อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา" โดยมหาอำมาตย์โท พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา อุปนายกราชบัณฑิตยสภา แพนกโบราณคดี พิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีทรงบวงสรวงอดีตมหาราชเจ้า ที่พระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2469 สันนิษฐานว่าเพลงยาวนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่นักวิชาการยังไม่อาจสรุปแน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่ง แม้ในตอนท้ายของบทกลอนได้บันทึกกำกับไว้ว่า "พระนารายณ์เป็นเจ้านพบุรีทำนาย..." หากว่าเป็นจริงตามนั้น "พระนารายณ์" ก็หมายถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วน"นพบุรี"คือเมืองลพบุรี
แต่ในหนังสือ “คำให้การชาวกรุงเก่า” กล่าวว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระพุทธเจ้าเสือ มีเนื้อความสั้นกว่าและปรากฏความเป็นร้อยแก้ว ซึ่งสันนิษฐานเพิ่มเติมได้อีกว่า อาจถูกแต่งเพื่อใช้ทำลายขวัญ และเป็นเหตุผลทางการเมืองเพราะบทกลอนดังกล่าวมีเนื้อความคล้ายกับร่ายของพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีหรือพระเจ้าเสือ ที่ทรงประพันธ์ขึ้นมาเพื่อเป็นหนึ่งในปฏิบัติการทางด้านจิตวิทยา ทางการเมืองในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งต่อมาผู้นำในสมัยรัตนโกสินทร์ก็สามารถใช้ประโยชน์จากบทกลอนดังกล่าวมาอธิบายเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยา โดยมีเป้าหมายในทางการเมือง

No comments:

Post a Comment